จินตคณิต : สมาธิในแต่ละวัย ควรมีแค่ไหนถึงจะเหมาะสม “ลูกไม่นิ่ง” “ลูกไม่มีสมาธิ” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ลูกไม่มีสมาธินั้น พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมานั้น เกิดเพราะลูกไม่มีสมาธิ หรือเพราะกิจกรรมที่พ่อแม่จัดให้นั้นไม่เหมาะสมกับพัฒนาการและความสนใจของลูก วันนี้เราจะมาดูกันว่า ในช่วงแต่ละวัยของลูก การจัดกิจกรรมที่เหมาะสม ควรใช้เวลาแค่ไหน และมีกิจกรรมแบบใด ที่ช่วยสร้างสมาธิให้ลูกได้
อายุ 2 – 3 ปี มีช่วงความสนใจ 3 – 15 นาที
ในช่วงวัยนี้จะเห็นได้ว่า ความสนใจของลูกต่อการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจะค่อนข้างน้อย เราจะสังเกตได้ว่า ในช่วงวัยนี้ลูกจะสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และใช้เวลาในการเล่นหรือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนี่งเป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ ก็คือ การจัดกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดสมาธิที่ยาวนานมากขึ้น เช่น การฟังนิทาน หรือการทำศิลปะ เช่น การระบายสี หรือฉีกปะกระดาษ ก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสมาธิให้กับลูกได้
อายุ 4 – 5 ปี ช่วงความสนใจ 5 – 25 นาที
ในช่วงวัยนี้ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการในเรื่องสมาธิที่ดีขึ้น และหากพ่อแม่ได้จัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสมาธิให้กับลูกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าลูกจะมีสมาธิที่ยาวนานขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมสมาธิให้กับเด็กในช่วงวัยนี้ได้เป็นอย่างดี ก็คือ การเล่นเกม หรือต่อจิ๊กซอว์
อายุ 6 – 7 ปี ช่วงความสนใจ 7 – 35 นาที
ในช่วงวัยนี้ถือเป็นช่วงวัยที่ลูกเริ่มมีสมาธิมากขึ้นแล้ว หากลูกอยู่ในช่วงวัยนี้แล้วยังไม่มีสมาธิ อยู่เฉยไม่ได้ แม้เพียงช่วงระยะเวลาสั้น อาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า ลูกอาจมีความบกพร่องในเรื่องของสมาธิแล้ว ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ความสนใจ และจัดหากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสมาธิ
ซึ่งในวัยนี้กิจกรรมควรเริ่มมีความซับซ้อน และเริ่มใช้ระยะเวลาในแต่ละกิจกรรมได้นานขึ้น เช่น การเล่นบอร์ดเกมฝึกทักษะ การทำงานฝีมือ หรืออาจพาลูกไปทำกิจกรรมที่ลูกมีความสนใจเฉพาะด้าน เช่น เล่นกีฬา เรียนดนตรีก็ได้
อายุ 8 – 10 ปี ช่วงความสนใจ 9 – 60 นาที
ในช่วงวัยนี้ถือเป็นช่วงวัยที่ลูกมีสมาธิยาวนาน และสามารถทำกิจกรรมที่มีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาที่มากขึ้นได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับสมาธิก็คือ เรื่องของการทำงานที่เป็นขั้นตอน และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะที่ต่อเนื่อง และเมื่อนำมาใช้ประกอบกันจะยิ่งทำให้การเรียนรู้ของลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพราะเรื่องของ “สมาธิ” นั้น เป็นเรื่องที่พ่อแม่จะต้องใส่ใจ และทำความเข้าใจ เพราะหากลูกขาดการกระตุ้นหรือส่งเสริมในเรื่องสมาธิที่ถูกต้องแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ ได้