ทำไมต้องตรวจสุขภาพตา ?

ทำไมต้องตรวจสุขภาพตา ? เพราะสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การตรวจสุขภาพตา (Comprehensive Eye Exam) จึงมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าก่อนตรวจสุขภาพอื่นๆ ในการตรวจสุขภาพตาผู้รับการตรวจจะได้รับการประเมินเรื่องการมองเห็น การตรวจวินิจฉัยถึงโรคตาที่พบได้บ่อย ประเมินดูจอประสาทตา เส้นประสาทตา รวมถึงเส้นเลือดเล็กๆในตา ซึ่งอาจสามารถบ่งบอกถึงโรคทางร่างกาย หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ด้วย

โรคตาบางชนิดอาจไม่มีอาการแสดงผิดปกติเลยในระยะแรกของโรค เช่น ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม เบาหวานขึ้นตา แต่หากไม่ได้รับการรักษา จะค่อยๆลุกลามมากขึ้น จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด การพบจักษุแพทย์เป็นประจำ และได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะป้องกันความพิการทางสายตาได้ นอกจากนี้การตรวจพบ และเริ่มดูแลตั้งแต่ระยะแรกของโรค ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย

ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพตา
เด็ก การตรวจสุขภาพตาในเด็กเป็นประจำ จะช่วยคัดกรองการมองเห็นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเด็กอาจจะไม่รู้ว่าการมองเห็นที่ปกติเป็นอย่างไร ไม่ระมัดระวังความผิดปกติทางตา ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาอย่างถาวรได้ เช่นตาขี้เกียจ เด็กๆจึงควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดทุกปี เพราะการมีคุณภาพการมองเห็นที่ดี จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ใหญ่ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงโรคทางตาก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม รวมไปถึงเบาหวานขึ้นตา ตามคำแนะนำของ The American Academy of Ophthalmology ผู้ใหญ่ควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดเมื่ออายุ 40 ปี เพราะสายตาจะเริ่มเสื่อมลง ประสิทธิภาพการมองเห็นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่อายุ40ปีขึ้นไป จะเริ่มมีปัญหาการอ่านหนังสือ จากสายตายาวตามอายุ ทำให้รู้สึกไม่สบายตา ปวดหัว หรือมีอาการทางตาอื่นๆ ตามมา

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคทางตา บุคคลกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรอถึงอายุ 40 ปี ก็ควรรับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ

ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน กระจกตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม

ได้ยาบางชนิดที่มีผลกับตา

ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ

ผู้ที่ทำงานที่ใช้สายตามาก
ขั้นตอนการตรวจสุขภาพตา
Visual Acuity วัดระดับการมองเห็น

Auto refraction วัดค่าสายตาด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ

Tonometry วัดความดันตา เพื่อดูความเสี่ยงของโรคต้อหิน

Cover test and Eye movement ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อตา การกลอกตา ตาเข

Slit lamp microscope ตรวจตาอย่างละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์สำหรับตา เพื่อดูส่วนของเปลือกตา กระจกตา ม่านตา และเลนส์ พร้อมประเมินภาวะต้อกระจก หรือภาวะผิดปกติอื่นๆ

สรุปผล และรับคำแนะนำจากจักษุแพทย์
การตรวจพิเศษอื่นๆ ขึ้นกับการประเมินจากจักษุแพทย์
Refraction การวัดค่าสายตาอย่างละเอียด สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียง และต้องใส่แว่น

Visual fields test การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องมือพิเศษ สำหรับผู้เป็นต้อหิน หรือโรคทางตาอื่นๆ

Dilation of the pupil and Ophthalmoscopy หยอดยาขยายม่านตา เพื่อตรวจจอประสาทตา และเส้นประสาทตา เช่น ในคนไข้เบาหวาน หรือมีโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด ขั้นตอนนี้อาจทำให้ผู้ได้รับการตรวจตามัวขึ้นเล็กน้อยชั่วคราวจากฤทธิ์ยา

Optical coherence tomography (OCT) เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัย ด้วยเครื่องมือ scan จอตา ซึ่งจะสามารถวัดความหนาของเส้นประสาทตา เห็นพยาธิสภาพใต้จุดรับภาพจอประสาทตาได้อย่างละเอียด

Fundus photos ถ่ายภาพจอตาระบบดิจิตอล เพื่อตรวจคัดกรองจอตาและขั้วประสาทตา

Fluorescein angiography การฉีดสีดูเส้นเลือดในจอประสาทตา

Related posts