เรียนคณิตศาสตร์อย่างเข้าใจ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกๆ ท่าน คงตระหนักถึงความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ดีนะครับ เพราะวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ใช้ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงเหตุผล การคิดเพื่อแก้ปัญหา การคิดเพื่อตัดสินใจ ซึ่งทักษะการคิดแบบนี้มีความจำเป็นมากๆ ในการดำเนินชีวิตเมื่อเขาเติบโตขึ้นครับ โดยส่วนตัวผมมีความเชื่ออย่างนี้ครับว่า หากเราปล่อยให้ลูกอ่อนเลขตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา ความไม่เข้าใจจะสะสมไปเรื่อยๆ นี่มันยากที่จะแก้ไข
“การฝึกทำแบบฝึกหัดอย่าง ถูกวิธี + สม่ำเสมอ + มีวินัย” ซึ่งต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบยังไงล่ะครับ
คำว่า “ถูกวิธี” นี่สำคัญมากๆ นะครับ เรามาดูกันครับว่า “ถูกวิธี” นั้นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
1. การฝึกฝนการคำนวณให้รวดเร็ว ทั้งเรื่อง การบวก ลบ คูณ หาร ยิ่งสำหรับเด็กเล็กๆ ชั้น ป.1 – ป.2 นี่สำคัญมากๆ ครับ พอโตขึ้นในระดับ ป.3 ขึ้นไป อาจจะลดๆ ลงก็ได้ครับ คือ คณิตศาสตร์สำหรับเด็กเล็กๆ ถ้าเขาคำนวณได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เขาจะมีความมั่นใจ และสนุกกับการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์มากๆ ครับ และความมั่นใจนี่ล่ะครับ เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับต้นมากเลยนะครับ ลองถ้าเด็กคำนวณช้า และผิดบ่อยๆ เด็กจะรู้สึกท้อครับ พอรู้สึกท้อนี่เรียนคณิตศาสตร์อย่างไรก็ไม่เก่งนะครับ ดังนั้นพื้นฐานสุดๆ เลยครับ ผมขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ ซื้อแบบฝึกหัดฝึกคำนวณ และพวกโจทย์ปัญหาพื้นฐาน แล้วเอามาให้ลูกฝึกทำ ใช้กุศโลบาย ในการกำหนดเวลา ในลักษณะเป็นเกมสนุกๆ ก็ดีไม่น้อยเลยครับ
2. การหาโจทย์ที่หลากหลายมาให้ลูกได้ฝึกทำ ผมแนะนำให้ซื้อหนังรวมโจทย์ที่เป็นโจทย์ระคน (คละหลายๆ เรื่อง) เอาที่เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมากหน่อย แบบรวมข้อสอบก็ได้นะครับ ถ้าเป็นแบบแยกเป็นชุดๆ ได้ยิ่งดีครับ จะได้วางแผนให้ลูกค่อยๆ ฝึกทำได้ครับ เอาโจทย์แบบนี้นี่ล่ะครับ มาให้ลูกได้ฝึกทำ เพราะการฝึกทำโจทย์ที่หลากหลาย ระคน แต่เป็นเรื่องที่ลูกเรียนมาแล้ว จะทำให้ลูกได้คิดทบทวน และพยายามใช้สิ่งที่เรียนมาแล้วในการแก้โจทย์ปัญหาครับ ทำให้เขารู้สึกว่า – – “สิ่งที่เขาเรียนมามีประโยชน์ และสามารถนำเอามาใช้ในการแก้โจทย์ยากๆ ได้ ที่สำคัญเขาจะเข้าใจ Concept ของสิ่งที่เรียนมากขึ้นด้วยครับ” – – การฝึกทำโจทย์ที่หลากหลายนั้นเป็นอะไรที่แตกต่างจาก “การทำการบ้าน” อย่างสิ้นเชิงครับ เพราะการทำการบ้าน เป็นการทำโจทย์ในเรื่องเดียวกันซ้ำไปซ้ำมา บางทีเด็กก็จำ Pattern แล้วก็เขียนส่งๆ ไปครับ ไม่ได้ฝึกคิดอะไรเท่าไหร่เลยครับ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะดูโจทย์ก่อน แล้วค่อยให้ลูกทำก็ได้ครับ โดยขีดฆ่าข้อที่ลูกยังไม่เรียนออกครับ โดยให้ลูกข้ามข้อที่คุณพ่อคุณแม่ขีดฆ่าไปก่อน (เพราะเป็นเนื้อหาที่ลูกยังไม่ได้เรียน ถ้าให้เขาทำ เขาก็ทำไม่ได้ อธิบายก็ไม่เข้าใจ ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเครียดครับ)
ระหว่างที่เขาทำ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชกับเขามากครับ บางคนนี่บอกกันข้อต่อข้อ ยิ่งเราเพ่งเล็งเขามาก ความมั่นใจเขาก็ไม่มีครับ ยิ่งยืนจี้ นี่ไม่มีทางที่จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในการเรียนคณิตศาสตร์ได้เลยครับ ก็เราตกลงกับเขาแล้วไม่ใช่หรือครับ ว่าข้อไหนที่เขาทำไม่ได้ ให้เขาข้ามไป แล้วค่อยมาคุยกันตอนสุดท้าย ส่วนข้อที่เขายังไม่ได้เรียน คุณพ่อคุณแม่ก็ตัดทิ้งแล้วนี่นา สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่นั่งทำอะไรเรื่อยเปื่อย เพียงแต่นั่งเป็นเพื่อนเขาเท่านั้นเองครับ (เมื่อไหร่ที่เขามีวินัยในตนเองแล้ว การนั่งเป็นเพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ ก็จะมีความจำเป็นลดลงไปครับ)
พอ “ถูกวิธี” แล้ว ต่อมาก็คือการทำความเข้าใจกับคำว่า “สม่ำเสมอ” และคำว่า “มีวินัย” ครับ 2 คำนี้ สำคัญมากๆ กับการเรียนคณิตศาสตร์ที่เก่งอย่างเข้าใจ และมีความสุขครับ เริ่มต้นกับคำว่าสม่ำเสมอ ง่ายๆ เลยครับ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนซื้อแบบฝึกหัดมาให้ลูกฝึกทำเองใช่ไหมครับ เราก็ลองคำนวณดูสิครับว่า ถ้าให้ลูกฝึกทำทุกวัน วันละประมาณ 30 – 45 นาที (ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง) ผมเน้นว่าทำทุกวันนะครับ (อาจจะเว้นวันอาทิตย์สักวัน ก็ได้ครับ เพื่อให้ลูกได้พักผ่อน เล่นอะไรตามอัธยาศัย) ผมยืนยันนะครับว่า เคล็ดลับที่เด็กญี่ปุ่นเก่งคณิตศาสตร์ ก็เพราะว่า คุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่น เขาเน้นให้ลูกฝึกทำโจทย์คณิตศาสตร์ทุกวัน วันละไม่มากนัก ไม่ต้องเครียด แต่เน้นทำทุกวัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คำนวณเวลาได้นี่ครับว่า ถ้าวันละประมาณ 30 – 45 นาที นี่ต้องทำวันละกี่ข้อ หรือวันละกี่หน้า จากนั้นก็วางแผนต่อครับว่า วันไหนควรทำโจทย์ฝึกคำนวณ วันไหนควรฝึกทำโจทย์ระคนซับซ้อน และเราควรซื้อแบบฝึกหัดมากี่เล่มดี ถึงจะเพียงพอที่จะให้ลูกได้ฝึกทำทุกวัน แบบไม่เคร่งเครียด ผมเน้นคำว่าสม่ำเสมอนะครับ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องเครียด ถ้า 30 นาที มากไป ก็เริ่มต้นด้วยวันละ 2 – 3 ข้อก็ได้ครับ หรือหดเวลาลงมาเหลือวันละ 20 นาทีก็ได้ครับ แต่ต้องทุกวัน ย้ำนะครับว่า – – “ทุกวัน” – –
3. ส่วนในเรื่องของ “การมีวินัย” นั้น ผมคิดว่า คุณพ่อคุณแม่ควรให้ “กติกา” กับลูกครับ โดยพูดคุยหารือ เพื่อตกลงกติการ่วมกัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราก็ออกคำสั่ง กำหนดกติกาให้เขานะครับ โดยใช้ “กิจกรรมที่เขาอยากทำ” เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนครับ เช่น ออกไปเล่นกับเพื่อน ดูการ์ตูน ฯลฯ โดยตั้งกติการ่วมกันว่า ถ้าเขาทำโจทย์ตามแผนที่วางไว้เสร็จแล้วในแต่ละวัน เขาจึงสามารถทำกิจกรรม หรือเล่นตามประสาที่เขาต้องการได้ ถ้าเขาเสร็จเร็ว ก็เล่นได้เร็ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องยึดมั่นในกติกานะครับ ถ้าเขาทำเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอนุญาตให้เขาเล่นนะครับ ถ้าเขาออกไปเล่น โดยที่ยังไม่ทำ คุณพ่อคุณแม่ ก็ต้องกล้าที่จะไปตามเขากลับมา ไม่ให้เขาได้เล่นนะครับ ถ้าเรายึดมั่นในกติกา เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้นล่ะครับ การมีวินัย จะเริ่มถูกบ่มเพาะจนเป็นนิสัย พอผ่านไปแค่ 1 เทอม การฝึกฝนด้วยตนเองของเขา จะเป็นอัตโนมัติ ที่เขาสามารถควบคุมตนเองได้ (Self Regulation) ทีนี้ล่ะครับ คุณพ่อคุณแม่ ก็แค่หาแบบฝึกหัดมาให้เขาฝึกทำเรื่อยๆ ป้อนโจทย์ไปเรื่อยๆ เขาก็จะค่อยๆ เก่งขึ้นเองครับ ที่สำคัญ ทีนี้คุณพ่อคุณแม่บางทีไม่ต้องมานั่งเป็นเพื่อนเขาทุกวันก็ได้นะครับ นัดตรวจแบบฝึกหัดกันสัปดาห์ละครั้ง ก็อาจจะเพียงพอแล้วครับ