ปอมเปโอทัวร์ตะวันออกกลาง รักษานโยบายบีบอิหร่าน

นายไมค์ ปอมเปโอ รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เดินสายหลายประเทศในตะวันออกกลางตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งมั่นให้พันธมิตรในแถบนี้สานต่อมาตรการกดดันต่ออิหร่านให้ได้มากที่สุด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ว่านายไมค์ ปอมเปโอ รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ ว่านโยบายและพันธกิจด้านตะวันออกกลางของรัฐบาลวอชิงตัน “ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” โดยมีแต่จะเดินหน้าต่อไป “จนกว่าจะเสร็จสิ้น”

ทั้งนี้ ปอมเปโอเดินสายเยือนกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางหลายแห่งตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเดินหน้านโยบายทั้งหมดที่มีต่ออิหร่าน ให้ฝังรากลึกในระดับที่รัฐบาลวอชิงตันชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน “ยากที่จะปรับเปลี่ยน”
 
ในระหว่างการเยือนอิสราเอล ปอมเปโอเชื่อมั่นว่า จะมีประเทศในอาหรับหันมาสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลมากขึ้น และกล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่ออิหร่านอีก “ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า” เกี่ยวกับประเด็นว่าสหรัฐจะปฏิบัติการทางทหารต่อโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน “ภายในอีกไม่นานนี้” หรือไม่ ปอมเปโอกล่าวว่า สหรัฐ “มีสิทธิ์ดำเนินการทุกอย่าง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของชาวอเมริกัน”  แม้รายงานที่เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เผยแพร่ก่อนหน้านี้ ระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนใจจากเรื่องนี้ไปแล้ว หลังรับฟังคำอธิบายจากทีมงาน
 
อนึ่ง ปอมเปโอปิดฉากภารกิจการเดินสายเยือนตะวันออกกลางรอบนี้ ด้วยการเข้าเฝ้าฯเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่พระมหาราชวัง ในเมืองนีออม เมื่อคืนวันอาทิตย์ อนึ่ง การที่รัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินนโยบาย “แข็งกร้าว” ต่ออิหร่าน เป็นเรื่องที่รัฐบาลริยาดแสดงความพอใจอย่างเปิดเผย
 
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากชัยชนะในการเลือกตั้งของไบเดน สร้างความกังวลอย่างชัดเจนให้กับซาอุดีอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นว่าที่ผู้นำสหรัฐคนใหม่ประกาศจะกลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ฉบับปี 2558 ซึ่งตอนนั้นไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี แล้วรัฐบาลทรัมป์ถอนตัวเมื่อปี 2561 แล้วใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่อรัฐบาลเตหะรานมาตลอด และสงครามในเยเมน ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ของฝ่ายอาหรับ ในการสู้รบกับกองกำลังฮูตี และไบเดนมองว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้าง

Related posts