สเปซเอ็กซ์ส่ง 4 ลูกเรือสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

นักบินอวกาศชาวอเมริกัน 3 คนและชาวญี่ปุ่น 1 คน ใช้บริการของสเปซเอ็กซ์ ในการเดินทางขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีทดลองขนาดใหญ่นอกโลก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ว่าจรวดฟอลคอน-นาย ( Falcon-9 ) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ออกเดินทางจากฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39เอ ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคันนาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 19.27 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ (  07.27 น. วันจันทร์ตามเวลาในประเทศไทย )

สำหรับฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39เอ ของศูนย์อวกาศเคนเนดี ยังเป็นฐานปล่อยจรวดเดียวกับที่นีล อาร์มสตรอง บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ เดินทางด้วยยานอะพอลโล-11 โดยอาศัยจรวดแซตเทิร์น-ไฟฟ์ ( Saturn-V ) นำส่งเมื่อเดือนก.ค. 2512 ถือเป็นภารกิจอวกาศครั้งแรกของมนุษยชาติที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ยานแคปซูลดราก้อน รีซิเลียนซ์ ( Dragon-Resilience ) แยกตัวออกจากจรวดนำส่งอย่างปลอดภัย และเข้าสู่วงโคจรตามเส้นทางที่กำหนดไว้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ( ไอเอสเอส ) พร้อใมผู้โดยสาร 4 คน ได้แก่ลูกเรือ 3 คนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) คือนายไมเคิล ฮอปกินส์ นายวิกเตอร์ โกลเวอร์ และนางแชนนอน วอล์คเกอร์ ร่วมด้วยลูกเรือจากองค์การอวกาศญี่ปุ่น ( จาซา ) คือนายโซอิจิ โนงุจิ  โดยทั้งสี่คนมีกำหนดเดินทางถึงไอเอสเอสในเวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของฝั่งตะวันออกสหรัฐในวันจันทร์ ( 11.00 น. วันอังคารตามเวลาในประเทศไทย ) และจะปฏิบัติหน้าที่อยู่บนไอเอสเอสนาน 6 เดือน ร่วมกับลูกเรือชาวรัสเซีย 2 คน และชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่บนนั้นแล้ว
 
อนึ่ง สเปซเอ็กซ์ส่งลูกเรือของนาซาเดินทางไปยังไอเอสเอสเป็นครั้งแรก เมื่อปลายเดือนพ.ค. และเดินทางกลับสู่โลกเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การเดินทางครั้งนั้นถือเป็น “ขั้นทดสอบ” หมายความว่าการเดินทางครั้งนี้ของลูกเรือทั้งสี่คน เป็นการเดินทางที่ถือเป็นเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ
 
ขณะที่ภารกิจของสเปซเอ็กซ์ทั้งสองครั้ง ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่สหรัฐกลับมาส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังไอเอสเอสด้วยตัวเอง นับตั้งแต่โครงการกระสวยอวกาศแอตแลนติสปิดฉากเมื่อปี 2554 เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลวอชิงตันใช้บริการยานแคปซูลโซยุสของรัสเซียมาตลอดจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นาซายังมอบใบรับรองการดำเนินงานด้านกระสวยอวกาศให้กับสเปซเอ็กซ์เป็นที่เรียบร้อย

Related posts