ในโลกของแวดวงธุรกิจนั้น ทุกคนมีสิทธิจะฝัน และความฝันอันยิ่งใหญ่ที่สุดตามแนวคิดทุนนิยม คือการกลายเป็นมหาเศรษฐี เด็กหนุ่มไฟแรงอย่างวินเซนต์ เซเลสกี้ (เจสซี่ ไอเซนเบิร์ก) และลูกพี่ลูกน้องอย่าง แอนทอน เซเลสกี้ (อเล็กซานเดอร์ สการ์สการ์ด) ที่ร่วมมือกันคิดค้นโปรเจ็คในการวางสายเคเบิ้ล ผ่านท่อขนาดเล็กความยาวเพียง 4 นิ้วความยาวหลายร้อยไมล์ เพียงเพื่อช่วงชิงความเร็วในการคว้าราคาหุ้นให้ไวกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ ซึ่งถ้าหากคุณไวกว่าแค่เพียง 1 วินาที นั่นหมายถึงผลกำไรตอบแทนที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
หนังเริ่มต้นด้วยการทำให้เราเห็นว่าสองตัวเอกอย่างวินเซนต์และแอนทอน ตัดสินใจบอกลาเจ้านายเก่าอย่างเอวา ตอร์เรส (ซัลม่า ฮาเย็ค) เพื่อสร้าง “โปรเจ็คฮัมมิ่งเบิร์ด” ด้วยตัวของเขาเอง ไอเดียเต็มหัว ความสามารถหาใครจับยาก แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เด็กหนุ่มไฟแรงอย่างเขาไม่มีก็คือเงินทุนในการเดินหน้าโครงการที่เรียกได้ว่าต้องใช้ต้นทุนมหาศาล และสิ่งที่เขาต้องทำคือการเข้าหาบริษัทที่สนใจในแนวคิดของเขาและสามารถสนับสนุนเงินทุน ในการวางสายไฟเบอร์ ซึ่งต้องวางเป็นเส้นตรงด้วยการเจาะผ่านภูเขา แม่น้ำ กระทั่งผ่ากลางบ้านชองชาวบ้านก็ตาม
ฟังดูเป็นเรื่องบ้าๆ แต่วิธีการนำเสนอของผู้กำกับ (และเขียนบท) ของ คิม เหงียน ก็ทำให้เราเห็นว่า ความอยากประสบความสำเร็จ ของวินเซนต์นั้นมีมากมายและล้นเหลือมากแค่ไหน เขาพยายามในทุกวิถีทางเพื่อจะคว้าในสิ่งที่เขาต้องการมาให้ได้ แม้ระหว่างทางอุปสรรคที่เขาพบเจอ เรียกได้ว่าขรุขระเป็นอย่างมาก ยังไม่รวมถึงการขัดขวางจากเจ้านายเก่าที่พยายามช่วงชิงการทำสายความเร็วเช่นกัน
ด้วยท่าทีในการเล่าเรื่องราวของ The Hummingbird Project มีเสน่ห์จนชวนเรามองหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนกับหนังแนวชีวประวัติของบุคคลที่เคยมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ (ทั้งที่เหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้เป็นการสมมติขึ้นทั้งนั้น) แต่ด้วยความน่าเชื่อถือในเชิงของบทภาพยนตร์ที่ทำการบ้าน ค้นคว้าข้อมูลเชิงควอนตัมฟิสิกส์มาเป็นอย่างดี และเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่จริงๆไม่ได้ไกลตัวมากนัก เมื่อมองในประเด็นเรื่องการช่วงชิงความรวดเร็วฉับไว รวมถึงการเป็นที่ 1 ของในทุกธุรกิจ ใครเริ่มก่อนก็เป็นต่อกว่าคู่แข่งไปอีกก้าวนั่นเอง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ The Hummingbird Project ทิ้งท้ายไว้ให้กับคนดูชวนขบคิด คือช่วงเวลาที่ตัวละครอย่างวินเซนต์กำลังพบว่าตัวเองกำลังจะเป็นผู้แพ้ในเกมที่เขาเดิมพันด้วยชีวิต เมื่อเขาทุ่มทุกอย่างลงไปหมดหน้าตัก ทันทีที่เขาเริ่มนั่งใคร่ครวญและทำอะไร “ช้าลง” หนังก็เริ่มใช้เทคนิคในการลดความเร็วภาพจนทุกอย่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า ย้อนแย้งกับวิธีการเล่าเรื่องที่ผ่านมาตลอด 2 ชั่วโมง อันเป็นการทิ้งท้ายให้คนดูได้เห็นว่า บางครั้งความฝันที่เราตั้งเป้าเอาไว้อาจจะล่มสลาย แต่สิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ก็คือชีวิตและจิตวิญญาณของตัวเอง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ทั้งหมด แต่การเป็นผู้แพ้และยอมรับกับความเจ็บปวดนั้น ก็เป็นเยียวยาตัวเองในอีกทางหนึ่งเช่นกัน