กลุ่มบริคส์เพิ่มความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19

สมาชิกกลุ่ม “บริคส์” เห็นพ้องการยกระดับความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งในขั้นตอนการผลิตและแจกจ่าย ขณะที่รัสเซียเดินหน้าประชาสัมพันธ์วัคซีน “สปุตนิก-ไฟฟ์”

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ว่ากลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ( บริคส์ )  5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ประชุมร่วมกันผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยในประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในฐานะประธานกลุ่มประจำปีนี้ ยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่คิดค้นและพัฒนาโดยรัสเซีย พร้อมทั้งขอความร่วมมือสมาชิกบริคส์อีก 4 ประเทศ ร่วมกันผลิตและแจกจ่ายวัคซีนของรัสเซียด้วย
 
ทั้งนี้ รัสเซียอยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 รายการ คือ “สปุตนิก-ไฟฟ์” ตั้งชื่อตามดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ผลิตโดยสหภาพโซเวียต และ “อีพิกแวคโคโรนา” อนึ่ง รัฐบาลมอสโกยื่นเรื่องต่อองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เพื่อขอให้มีการพิจารณาอนุมัติใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉิน และการอนุมัติคุณสมบัติเบื้องต้นให้กับวัคซีนสปุตนิก-ไฟฟ์ ที่พัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาแห่งชาติของรัสเซีย     

ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ “โคแวกซ์” จัดตั้งโดยดับเบิลยูเอชโอ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน ( กาวี ) เพื่อร่วมกันระดมทุนในการพัฒนา และจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการรับประกันว่า ทุกประเทศจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน และให้คำมั่นว่าจีนจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้สมาชิกบริคส์ได้รับการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึง ส่วนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนที่อินเดียคิดค้นเพื่อการนี้ และศักยภาพด้านการผลิตซึ่งจะเพียงพอต่อ “ผลประโยชน์ของมนุษยชาติ”

Related posts