รัฐบาลสหรัฐฟ้องกูเกิลผูกขาดธุรกิจสืบค้นข้อมูล

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฟ้องบริษัทกูเกิล ละเมิดกฎหมายต่อต้านการกีดกันทางการค้า ด้วยการผูกขาดบริการค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ว่ากระทรวงยุติธรรมของสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร เรื่องการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน โดยมีโจทก์ร่วมคือสำนักงานอัยการกลางจากอีก 11 รัฐ ได้แก่ อาร์คันซอ จอร์เจีย ฟลอริดา ลุยเซียนา อินดีแอนา เคนทักกี มิสซิสซิปปี มอนแทนา มิสซูรี เซาท์แคโรไลนา และเทกซัส ฟ้องบริษัทกูเกิลว่าละเมิดกฎหมายผูกขาดการค้า “เชอร์แมน” ฉบับปี 2433 ลงนามโดยประธานาธิบดีเบนจามิน แฮร์ริสัน ผู้นำสหรัฐคนที่ 23 มีประเด็นหลักคือ “การจัดระเบียบการแข่งขัน” ระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการผูกขาดสินค้าหรือบริการนั้น
 
ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันกล่าวหากูเกิลผูกขาดการให้บริการสืบค้นข้อมูล และการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ซึ่งผลการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุว่า เกือบ 90% ของการค้นหาข้อมูลในประเทศต้องผ่านกูเกิล โดยกูเกิลไม่ได้แข่งขันกับผู้ประกอบการที่เสนอบริการคล้ายคลึงกันในด้าน “คุณภาพ” แต่ผ่านการล็อบบี้ ด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ เพื่อการันตีการที่กูเกิลจะเป็นเครื่องมือหลักของการสืบค้นเมื่อใช้งาน

แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าภาครัฐจะเรียกค่าเสียหายจากกูเกิลเป็นจำนวนเท่าใด หรือมีมาตรการอื่น แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการฟ้องร้องบริษัทเทคโนโลยี “ครั้งใหญ่ที่สุด” ของรัฐบาลอวอชิงตัน นับตั้งแต่การฟ้องบริษัทไมโครซอฟท์ เมื่อปี 2541 และย้อนกลับไปเมื่อปี 2517 เป็นการฟ้องร้องบริษัทเอทีแอนด์ที
 
ด้านกูเกิลออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจอย่างหนัก และยืนยันว่าผู้บริโภค “เลือกใช้” บริการของกูเกิล “ด้วยความสมัครใจ” อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาประนีประนอมกันเองได้ แต่หากไม่สำเร็จ การไต่สวนน่าจะเริ่มขึ้นปลายปีหน้า หรือช่วงต้นปี 2565
 
ปัจจุบันบริษัทอัลฟาเบตซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล มีมูลค่าในตลาดสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 31.23 ล้านล้านบาท ) โดย 90% ของรายได้มาจากการขายบริการสืบค้นข้อมูล

Related posts